บ้านเดิมเจ้า

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประกันสังคม มาตรา 40 ประกันสังคมเพื่อเกษตรกร


วิธีสมัครประกันสังคม มาตรา 40
การประกันสังคม คือการสร้างหลักประกันในการดำเนินชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ โดยสมาชิกที่เรียกว่าผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบในการเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลและมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง ตามกฎหมายประกันสังคมได้แบ่งผู้ประกันเป็น 3 มาตราดังนี้


1. ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 คือลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา  33  ลาออกจากงาน ลูกจ้างยังคงได้รับความคุ้มครอง 4  กรณี  คือ  เจ็บป่วย  ทุพพลภาพ  คลอดบุตร  และตาย จากการประกันสังคมต่อไปอีก  6  เดือน 

2. ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 คือ บุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และความเป็นลูกจ้างสิ้นสุดลง แต่ประสงค์จะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมต่อเอง ซึ่งมีเงื่อนไขในการสมัครดังนี้ 
    - ต้องเคยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน
    - ต้องมายื่นคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ด้วยตนเอง ภายในระยะเวลา เดือนนับแต่วันที่ลาออก 


3. ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ ประชาชนทั่วไปที่ประสงค์เข้าสู่ระบบการประกันสังคม โดยยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ณ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด จะได้รับการคุ้มครองเพียง 3 กรณีเท่านั้น คือ กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 
    - มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
    - ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39- ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ
    - ไม่เป็นวัณโรคในระยะอันตราย โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซึ่งอยู่ในระหว่างการรักษาและอยู่ในสภาพใช้เครื่องช่วยชีวิต 
          
จากที่เกริ่นนำถึงความหมายการประกันสังคมและผู้ประกันตนตามมาตราต่างๆ ต่อไปจะกล่าวถึงวิธีสมัครประกันสังคม มาตรา 40 สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานกับสถานประกอบการ หรือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระทุกสาขาอาชีพสามารถเป็นผู้ประกันตนกับทางสำนักงานประกันสังคมได้ ซึ่งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

คุณสมบัติในการสมัคร
1.  ต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์  และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
2.  ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33  และ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39
สิทธิประโยชน์พื้นฐาน
1.            เงินทดแทนการขาดรายได้ เมื่อเจ็บป่วย  เมื่อนอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป  จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน  200  บาทต่อวัน ไม่เกิน 20 วันต่อปี   เงื่อนไข  จ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือน
2.            เงินทดแทนการขาดรายได้ เมื่อทุพพลภาพ  รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500 - 1,000 บาทต่อเดือน  เป็นเวลานานถึง  15  ปี  เงื่อนไข  เงินทดแทนการขาดรายได้ เมื่อทุพพลภาพ  ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือนขึ้นไป
3.            เงินค่าทำศพ (เสียชีวิต)  จะได้รับค่าทำศพจำนวน 20,000 บาทต่อราย  เงื่อนไข  จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน
4.            เงินบำเหน็จชราภาพ   ผู้ประกันตนสามารถรับเงินก้อน เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์  เงื่อนไข  มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
ทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับคุณ
     เพื่อสิทธิประโยชน์ดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมขอเสนอทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับคุณด้วยชุดสิทธิประโยชน์  ดังนี้
ชุดสิทธิประโยชน์ 1
สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย    เงินทดแทนการขาดรายได้ เมื่อทุพพลภาพ    เงินค่าทำศพ  
เงินสมทบที่จ่าย  
ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบเดือนละ 100 บาทต่อเดือน  หรือวันละประมาณ 3 บาท *ในระยะแรกรัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนให้ 30 บาท และ ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท
ชุดสิทธิประโยชน์ 2
สิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย    เงินทดแทนการขาดรายได้ เมื่อทุพพลภาพ    เงินค่าทำศพ   เงินบำเหน็จชราภาพ (เงินออมกรณีชราภาพ)
จ่ายเงินสมทบ
ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบเดือนละ 150 บาทต่อเดือน หรือวันละประมาณ 5 บาท  *ในระยะแรกรัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนให้  50 บาท  และ ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท
***ทั้งนี้ผู้ประกันตนที่ประสงค์รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น  สามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน
หมายเหตุ  ทั้งนี้  ในการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายเป็นรายเดือน ๆ ละ 1 ครั้ง และจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าได้ ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน แต่ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้
วิธีการนำส่งเงินสมทบ
1.            ผู้ประกันตนตามมาตรา 40  สามารถนำส่งเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก
2.            จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-ELEVEN ได้ทุกสาขา  ไม่เฉพาะเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-ELEVEN เท่านั้น  แต่สามารถชำระได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสอื่นๆ ได้ทั่วประเทศ โดยมีค่าธรรมเนียม 10 บาทต่อครั้ง
3.            ชำระได้ที่เคาน์เตอร์ของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  โดยมีค่าธรรมเนียม 5 บาทต่อครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2554 เป็นต้นไป
หมายเหตุ   การชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสจะเสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 10 บาท ในส่วนการชำระผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะมีค่าธรรมเนียม 5 บาทต่อครั้ง โดยจะได้รับใบเสร็จรับเงินทันที  แต่ผู้ประกันตนต้องนำใบเสร็จรับเงินที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสที่ออกให้  พร้อมสมุดนำส่งเงินสมทบมาตรา 40 ไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา  เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ทำการประทับตราในสมุดนำส่งเงินสมทบ  เนื่องจากต้องใช้ประกอบการยื่นเรื่องเมื่อมีการรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
เอกสารประกอบการสมัคร
1. แบบการขึ้นทะเบียนการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 (สปส.1-40)
2. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ พร้อมสำเนา
สถานที่ในการขึ้นทะเบียน
1. สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา
2. หน่วยบริการเคลื่อนที่
3. สมัครผ่านตัวแทน (เจ้าหน้าที่ประกันสังคม)
หมายเหตุ
      ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมที่/จังหวัด/สาขา ได้มีการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่สนใจสมัครมาตรา 40  โดยสามารถกรอกแบบฟอร์มสมัครผ่านเจ้าหน้าที่/ตัวแทน  แต่ยังไม่มีการเก็บเงินสมทบ ทั้งนี้ในการเก็บเงินสมทบจะเริ่มเก็บในเดือน พฤษภาคม 2554 หรือสามารถติดต่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนได้  ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป  ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขา 
ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่ไม่ได้ทำงานกับสถานประกอบการ หรือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระทุกสาขาอาชีพมั่นใจได้ว่า ยังสามารถเป็นผู้ประกันตนกับทางสำนักงานประกันสังคมได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์สอดคล้องกับจำนวนเงินสมทบที่ส่งและให้ผู้ประกันตนสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข



ทีมา: สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 จากสำนักงานประกันสังคม