บ้านเดิมเจ้า

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กับสุราษฎร์ธานีโมเดล การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ

                       อุทกภัยในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม - 15 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหาย ให้อย่างมหาศาล เรียกว่าร้ายแรงที่สุดในรอบ 70 ปี พื้นที่ทั้ง 19 อำเภอถูกน้ำท่วมพร้อมกันอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด เพราะเป็นเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นขณะที่พื้นที่ภาคใต้อยู่ในช่วงหน้าร้อน ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ๆ ที่ชาวใต้รับรู้และคุ้นเคยกับสภาพอากาศเช่นนี้ ว่าในหน้าร้อนจะต้องเผชิญกับความแห้งแล้ง และเมื่อถึงหน้าฝน ต้องรับมือกับมรสุม ความคุ้นเคยทำให้ละเลยสัญญาณที่ธรรมชาติพยายามเตือนมาตลอดในช่วงระยะเวลา หลายปีที่ผ่านมา ว่า โลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วจะด้วยสภาพอันเป็นปกติของธรรมชาติเอง หรือน้ำมือของมนุษย์
การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่นี้เป็นการเกิดขึ้นครั้งที่ 2 ภายในห้วงเวลาห่างกันเพียง 4 เดือน  เพราะก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2553 พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์น้ำท่วมที่เป็นเหตุการณ์ปกติของภาคใต้ในหน้ามรสุม         นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าในปลายเดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นฤดูร้อน จะกลายเป็นช่วงเวลาที่
จ.สุราษฎร์ธานี จมมิดอยู่ใต้บาดาล ด้วยฤทธิ์ของอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 7 ทศวรรษ บทเรียนจากภัยพิบัติ แต่สามารถเอาชนะ และฟื้นฟูความเสียหายของบ้านเมืองได้ในเวลารวดเร็วนั้นมาจากความร่วมมือร่วม ใจประสานการปฏิบัติทั้งในส่วนภาครัฐ เอกชน และประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ จนช่วยเหลือฟื้นฟูความเสียหายของบ้านเมืองได้ในเวลาอันรวดเร็ว และในโอกาสที่จังหวัดได้ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายดังกล่าว เพื่อให้เกิดการป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้มีผลสำเร็จแบบยั่งยืน จึงได้บูรณาการแนวทางการปฏิบัติที่ผ่านมา และแนวทางนโยบายการป้องกันการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล คือ 2P2R เพื่อเล็งถึงประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประเทศชาติในวันข้างหน้า คณะผู้บริหารจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้รวบรวมแผนงานที่เรียกว่า สุราษฎร์ธานีโมเดล หรือแผนบูรณาการการปฏิบัติงานสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน
สำหรับหลักการที่ จ.สุราษฎร์ธานีเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต จึงอยู่ภายใต้กรอบวาระแห่งชาติ  2P2R ที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดใช้วาระดังกล่าวเป็นแผนแม่บทในการทำ งานบริหารจัดการรับมือพิบัติภัยธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการที่ จ.สุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ดังนี้ P ที่ 1 การเตรียมการ เตรียมการด้านข้อมูลและแผนด้านการสื่อสาร ด้านทรัพยากร และด้านการประชาสัมพันธ์  R ที่ 1 การเผชิญเหตุ มีการจัดตั้งระบบ ICS ที่มีศูนย์ปฏิบัติการร่วมกัน ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน การกำหนดให้มีศูนย์สั่งการเพียงศูนย์เดียว การช่วยเหลือประชาชนด้านชีวิต ทรัพย์สิน การควบคุมสถานการณ์เป็นลำดับแรก และการประชาสัมพันธ์ในภาวะฉุกเฉิน ที่มีการปฏิบัติงานในลักษณะบูรณาการ วันสตอปเซอร์วิส (One Stop Service) R ที่ 2 การฟื้นฟู ให้ฟื้นฟูความเสียหาย และการจัดลำดับความเร่งด่วนในการฟื้นฟู เช่น แหล่งสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และการลดภาระทางการเงินของผู้ประสบภัย  P ที่ 2 การป้องกันในระยะยาว ให้
บูรณาการการบริหารจัดการน้ำครบวงจร เช่น แก้มลิง ระบบระบายน้ำ การขุดคูคลองสายต่าง ๆ และระบบการกักเก็บน้ำ
โดยในส่วนของการปฏิบัติการก่อนเกิดภัยนั้น จังหวัดได้ผ่านขั้นตอนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คือ การรวบรวมพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ปลอดภัย เครื่องมือและอุปกรณ์ช่วยเหลือ รวมถึงช่องทางการสื่อสารระหว่างรัฐและประชาชนซึ่ง จ.สุราษฎร์ธานี ได้ใช้เครือข่ายโทรทัศน์และวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์เป็นแม่ข่ายในการแจ้ง ภัย นอกจากนั้นยังมีความพร้อมของหน่วยกู้ภัยที่สนธิกำลังรวมกันระหว่างภาครัฐและ เอกชนไม่น้อยกว่า 5,000 คน ก่อนถูกนำไปจำลองเหตุการณ์
ผวจ.สุราษฎร์ธานี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในมุมมองของโมเดล เป็นการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมจะมี 2 ปัจจัย คือ น้ำกับ มนุษย์และทั้ง 2 ปัจจัยนี้ต้องอยู่รวมกัน ผู้คนส่วนใหญ่มองว่ามนุษย์สามารถบริหารจัดการธรรมชาติได้ และแยกบริหารว่าน้ำก็อยู่ส่วนน้ำ คนก็อยู่ส่วนคน ความเป็นจริงเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นไปของโลกได้ และไม่สามารถแยกน้ำออกจากชีวิตคน ในสถานการณ์ภัยพิบัติ และอุทกภัยที่สุราษฎร์ธานี เมื่อต้นปี 2554 คณะผู้บริหารจังหวัดได้แก้ไขปัญหาโดยปรับงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดปี 2554 เพื่อให้ทันกับการเตรียมการในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้นได้อีกในช่วงปลายปี 2554 โดยการตั้งงบประมาณไว้ราว 10 ล้านบาท เพื่อการจัดการศึกษาข้อมูล พื้นที่ ภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ปริมาณน้ำ และทิศทางการไหลของน้ำเข้าสู่พื้นที่ประสบอุทกภัยตามเหตุการณ์ที่เกิดจริง ขั้นสุดท้ายผลการศึกษานี้จะทำให้ทราบว่าต้องเตรียมการ เผชิญเหตุ ฟื้นฟู และป้องกันระยะยาวอย่างไร ซึ่งก็คือนโยบาย 2P2R
นายธีระยุทธ กล่าวด้วยว่า สุราษฎร์ธานีโมเดล จะเป็นคู่มือลงสนามรบโดยไม่ต้องกางแผนที่ในภาวะวิกฤติ เป็นแม่แบบของ แผนปฏิบัติการ ที่สามารถเข้าถึงและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง มุ่งเป้าไปที่การสร้างความอุ่นใจ ช่วยพิทักษ์ทรัพย์สินของประชาชนและจังหวัดให้ปลอดภัย ฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะ และระบบสาธารณูปโภคให้ใช้การได้โดยไว ที่สำคัญคือการฟื้นฟูจิตใจของประชาชนผู้ประสบภัย โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือระยะสั้น ระยะกลาง  ระยะยาว และมีแผนกิจกรรมข่าวสาร เพื่อจัดหาทุนสนับสนุนในการดำเนินงานจากองค์กรต่าง ๆ อาทิ ภาครัฐ ภาคประชาชน อันเป็นการแก้ปัญหางบประมาณ จากทางภาครัฐที่มีจำกัด และสามารถฟื้นฟูบ้านเมืองได้อย่างต่อเนื่องที่เป็นระบบแน่นอน
ผมคิดว่า วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ มนุษย์ ทุกคนควรย้อนคิดว่า ธรรมชาติที่ร้ายแรงนั้นได้ให้บทเรียนอะไรกับมนุษย์บ้าง ธรรมชาติคือผู้ทำร้ายมนุษย์จริงกระนั้นหรือ... หรือมนุษย์ต่างหากที่เป็นผู้ทำร้ายธรรมชาติ...เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ เปลี่ยนวิถีชีวิตให้รอดพ้นจากภัยธรรมชาติ แทนการต่อสู้กับธรรมชาติ”  นายธีระยุทธ กล่าว

ข่าวจาก : http://www.dailynews.co.th  ข่าวภูมิภาค ประจำวันที่ 19 ต.ค. 54



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น