บ้านเดิมเจ้า

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

5 รั้วแก้ปัญหายาเสพติด หน้าที่ทุกคนในชาติ


          ยาเสพติดถือเป็น "ภัยคุกคามที่กัดกร่อน บ่อนทำลายประเทศชาติ" ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งต่อปัจเจกบุคคล สังคมส่วนรวม และการพัฒนาประเทศ ทำให้สูญเสียทรัพยากรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

          อีกทั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดก่อให้เกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศ ไม่เป็นที่ไว้วางใจของนานาชาติในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ไม่กล้าเข้ามาท่องเที่ยวหรือลงทุนทางการค้าและธุรกิจต่าง ๆ

          ที่ผ่านมาการปราบปรามหรือเพิ่มโทษไม่ได้ทำให้ปัญหายาเสพติดหมดไป เพราะจากการสำรวจจำนวนผู้เสพยาเสพติดในประเทศไทยกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2546 มีผู้เสพประมาณ 460,000 คน ในปี 2550 มีผู้เสพ 570,000 คน และปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 605,000 คน นั่นแสดงว่าการปราบปรามอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีนโยบายด้านอื่นมาสนับสนุนด้วย

          การดึงพลังของทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันทำงานแบบครบวงจรเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหา รัฐบาลจึงได้จัดทำยุทธศาสตร์แผนปฏิบัติการในเรื่องของยาเสพติดภายใต้ชื่อ "ยุทธศาสตร์ 5 รั้ว ป้องกัน" เพื่อป้องกันจุดอ่อน 5 ด้าน ทั้งด้านชายแดน ด้านปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ด้านความอ่อนแอของครอบครัว-ชุมชน และด้านปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคม สภาพแวดล้อม

          "รั้ว" ในที่นี้หมายถึง การสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างกิจกรรม สร้างกระบวนการทำงานทั้งภาครัฐและประชาชนได้ดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อันได้แก่ รั้วชายแดน รั้วชุมชน รั้วสังคม รั้วโรงเรียน และรั้วครอบครัว

          รั้วแรก คือ "รั้วชายแดน"

          ยาเสพติดส่วนใหญ่มาจากแหล่งผลิตในประเทศเพื่อนบ้านและลักลอบนำเข้าประเทศไทย ภารกิจนี้มีกองบัญชาการกองทัพไทยเป็นเจ้าภาพหลัก ให้กองกำลังป้องกันชายแดนเป็นผู้รับผิดชอบในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่จัดกำลังปฏิบัติการลาดตระเวน สกัดกั้นการนำเข้ายาเสพติดตามแนวชายแดน จัดตั้งอาสาสมัครประชาชนในหมู่บ้านชายแดนเพื่อเป็นกำลังเฝ้าระวัง รวมถึงปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดในเชิงรุกด้วยการดำเนินมาตรการทางการข่าว การร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งด้านการข่าว การปราบปรามสกัดกั้น และการลาดตระเวนร่วมกัน

          รั้วสอง คือ "รั้วชุมชน"

          จากความอ่อนแอของชุมชน ความไม่มีภูมิคุ้มกันของชุมชนทำให้ปัญหายาเสพติดเข้ามาแพร่ระบาดได้ง่าย รัฐบาลจึงประกาศชัดเจนที่จะสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ เสริมบทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในการเฝ้าระวังรวมทั้งการสำรวจตรวจสอบพฤติการณ์ทั้งค้าและเสพด้วยกระบวนการประชาคม เพื่อคัดกรองปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชนขั้นต้นรวมถึงมาตรการทางด้านกฎหมาย เพื่อลดทอนโครงสร้างทางการค้าในพื้นที่ รวมถึงการจับกุมและส่งผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัด

          รั้วสาม คือ "รั้วสังคม"

          มุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชน ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยลบในสังคม ทั้งสถานบันเทิงที่ผิดกฎหมาย หอพักที่ไม่ได้จดทะเบียน โต๊ะสนุ๊ก โต๊ะพนันบอล ตู้ม้า ร้านเกมส์ อินเทอร์เน็ต แหล่งมั่วสุมต่าง ๆ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เยาวชนมีพฤติกรรมเสี่ยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ภารกิจนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการโดยผู้ว่าราชการจังหวัด/ผอ.รมน.จว.ดำเนินการขยายพื้นที่และกิจกรรมทางบวกให้มากขึ้น อาทิ ลานกีฬา ลานดนตรี ลานกิจกรรมสร้างสรรค์ของเยาวชน รวมถึงการสร้างแกนนำกลุ่มต่าง ๆ ในจังหวัด ให้เป็นพลังขับเคลื่อนการจัดระเบียบสังคม อาทิ แกนนำครูอาสา แกนนำผู้ปกครอง แกนนำเยาวชน แกนนำชุมชน ฯลฯ

          รั้วสี่ คือ "รั้วโรงเรียน"

          ปกติแล้วเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะมีพฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องอื่น ๆ ตามมา เช่น หนีเรียน มั่วสุม เสพยาเสพติด ก้าวร้าว สูบบุหรี่ ดื่มของมึนเมา ดังนั้นมาตรการแก้ไขปัญหาของเยาวชนจึงต้องมุ่งเน้นไปที่สถานศึกษาทุกระดับ ภารกิจนี้มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลักในการสำรวจและจัดทำข้อมูลค้นหาผู้เสพ/ผู้ติด/ผู้ค้า และเยาวชนกลุ่มเสี่ยง โดยมอบหมายให้ครูทำหน้าที่เสมือนกลไกปลูกฝังและสอดส่องพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ด้วยการจัดกิจกรรมในสถานศึกษา อาทิ การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาเฉพาะ ค่ายพัฒนาคุณธรรมกิจกรรมทางเลือกตามความสนใจของเยาวชนทั้งดนตรี กีฬา ศิลปะและการพัฒนาอาชีพ นอกจากนี้ยังผลักดันให้มีการจัดตั้งเครือข่ายผู้ปกครองในโรงเรียนและชุมชนด้วย

          รั้วสุดท้าย "รั้วครอบครัว"

          ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะป้องกันยาเสพติด เพราะเมื่อใดครอบครัวเข้มแข็งก็จะส่งผลต่อพื้นฐานของความเข้มแข็งของประเทศด้วย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน จัดอบรมพ่อแม่ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง เกี่ยวกับความรู้ในการป้องกันยาเสพติด โดยจะมุ่งเน้นไปที่ครอบครัวที่มีบุคคล เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งที่ถูกจับกุมหรือที่บำบัดรักษา เป็นเป้าหมายแรก

          นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันแล้ว ยังมีการใช้มาตรการทางกฎหมายสืบสวน ปราบปรามกลุ่มการค้ายาเสพติดระดับต่าง ๆ เพื่อตัดโครงสร้างการกระจายยาเสพติดไปยังผู้เสพ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการเร่งรัดโครงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดแบบบูรณาการ นำผู้เสพเข้าสู่ระบบบำบัดฟื้นฟูของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการใช้กระบวนการชุมชน ประชาสังคมเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน ในการจัดทำค่ายบำบัดฟื้นฟู และโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองให้ความช่วยเหลือในการดำเนินชีวิตภายหลังผ่านการบำบัดฟื้นฟู เช่น การให้อาชีพ สนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ ตลอดจนการจัดกลไกติดตามผู้ผ่านการบำบัดให้สามารถกลับสู่สังคมได้ตามปกติ

          สำหรับเส้นทางการลักลอบนำเข้ายาเสพติดสู่ประเทศไทยนั้น ยาบ้าจะถูกนำเข้ามาทางภาคเหนือเป็นหลัก ขณะที่กัญชาจะถูกนำเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ 18 อำเภอ ใน 8 จังหวัด เป็นพื้นที่หลักที่มีการลักลอบนำเข้ายาเสพติดมากที่สุด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงดาว อ.เวียงแหง อ.ไชยปราการ อ.แม่อาย) จ.แม่ฮ่องสอน (อ.ปาย อ.ปางมะผ้า) จ.หนองคาย (อ.เมือง อ.บึงกาฬ) จ.นครพนม (อ.ท่าอุเทน อ.บ้านแพง) จ.มุกดาหาร (อ.เมือง) จ.อุบลราชธานี (อ.เขมราฐ) จ.สระแก้ว (อ.อรัญประเทศ)

          กองทัพบก เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามยุทธศาสตร์ "รั้วชายแดน" จึงมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่เป้าหมาย ด้วยการเพิ่มความถี่และความเข้มข้นของการลาดตระเวน จัดจุดตรวจ/จุดสกัดเส้นทางตามแนวชายแดน ในพื้นที่และช่องทางสำคัญที่มีปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติดและส่งออกสารตั้งต้นสารเคมีการปิดล้อม/ตรวจค้นการตัดทำลายพืชเสพติด ตลอดจนการประสานหน่วยทหารชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อความร่วมมือด้านการข่าวและการลาดตระเวนร่วมกัน โดยยึดถือระยะ 30-50 กม. จากแนวชายแดนเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ

          อย่างไรก็ตาม การลักลอบนำเข้ายาเสพติดมักใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่ เช่น ลักลอบนำเข้าในช่วงเทศกาลสำคัญลำเลียงและซุกซ่อนมากับสินค้าเกษตรที่ยากต่อการตรวจค้น หลีกเลี่ยงเส้นทางหลักหรือใช้การอ้อมผ่านจุดตรวจ/จุดสกัด ใช้การดัดแปลงพาหนะลักลอบนำเข้า ซุกซ่อนตามร่างกายคนและสัตว์เศรษฐกิจ ลักลอบนำเข้าทางพัสดุไปรษณีย์ ระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งการลักลอบนำเข้าในลักษณะกองทัพมด และแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาทำงาน

          ดังนั้น การสร้างรั้วชายแดนให้แข็งแกร่งจึงจำเป็นต้องสร้างสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งอาสาสมัครประชาชนในหมู่บ้านตามแนวชายแดนเพื่อให้เป็นกำลังเฝ้าระวังรวมถึงการเสริมสร้างกำลังประจำถิ่นในรูปแบบโครงการหมู่บ้าน/ชุมชนชายแดนเข้มแข็ง ช่วยในการแจ้งข้อมูลข่าวสารหรือให้ความร่วมมือในการจับกุมกระบวนการค้ายาเสพติด ป้องกันมิให้การแพร่ระบาดของยาเสพติดขยายตัวมากขึ้น

          งานการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดของกองทัพบก มิได้จำกัดอยู่แค่เพียงป้องกันและปราบปรามพื้นที่หน่วยทหารและพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงงานด้านบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดด้วย โดยจะรับผู้ติดยาเสพติดที่ถูกจับกุม และศาลพิจารณาตัดสินให้เป็นผู้ป่วย เข้ามาบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในหน่วยทหารที่จัดตั้งเป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ภายใต้ชื่อ "ศูนย์วิวัฒน์พลเมือง" มุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้เรียนรู้แนวทางการดูแลตัวเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ตลอดจนการฝึกวิชาชีพซึ่งเป็นกิจกรรมทางเลือกเพื่อพัฒนาทักษะให้นักเรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพหลังจบหลักสูตรต่อไป

          ยาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติไม่สามารถแก้ไขให้บรรลุผลได้ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ต้องอาศัยการแก้ไขในมิติต่างๆ ทั้ง 5 ให้แข็งแกร่ง สถาบันทางสังคมทุกระดับทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน สถาบันโรงเรียน สถาบันศาสนา ต่างทำบทบาทของตนอย่างครบถ้วน ระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจทัศนคติที่ดี ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสมบูรณ์เท่าทันต่อเหตุการณ์ จึงเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถขจัดปัญหายาเสพติดให้หมดสิ้นไปจากผืนดินไทยได้อย่างแท้จริง

          26 มิถุนายน ของทุกปี เป็น "วันต่อต้านยาเสพติดโลก" ควรถือเป็นโอกาสสำคัญเริ่มต้นการ "สร้างรั้วทั้ง 5 ของชาติไทยให้แข็งแกร่ง" ด้วยจิตสำนึกและพลังความร่วมมือจากประชาชนในทุกภาคส่วน








ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น