บ้านเดิมเจ้า

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โรคปากและเท้าเปื่อยในเด็ก ที่ต้องระวัง




เชื้อที่เป็นสาเหตุ และ อาการของโรค
      ที่จริงแล้วเชื้อที่ทำให้เกิดโรค ปากมือและเท้าเปื่อยนั้น เป็นเชื้อไวรัสที่มีการระบาดทำให้เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ลงมา (ส่วนใหญ่จะเป็นวัยเตรียมอนุบาลหรืออนุบาล) มีอาการเจ็บป่วยเป็นแผลในปากและมีผื่นขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งมักจะพบมากในหน้าหนาว หรือช่วงที่มีอากาศเย็น ในเมืองไทยก็มีเชื้อนี้ และทำให้เด็กป่วยกันประปราย
       เชื้อไวรัสนี้เป็นไวรัสในกลุ่ม เอนเทโรไวรัส ซึ่งมีหลายสายพันธ์ (มากกว่า 100 สายพันธ์) และอาการแสดงของการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มนี้ก็จะมีความหลากหลาย ทั้งในแบบที่เป็นหวัดเจ็บคอทั่วไป หรือมีแผลในปากและเจ็บปากมากมีไข้สูง ทานอาหารไม่ได้ อาจมีอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย หรือมีทั้งแผลในปากและผื่นขึ้นตามฝ่ามือฝ่าเท้าให้เห็นชัดเจนว่าเป็นโรคในกลุ่มปากมือและเท้าเปื่อย
โดยทั่วไปจะถือว่าโรคปาก มือ และเท้าเปื่อยนี้เป็นโรคที่ค่อนข้างจะไม่รุนแรงคือมักจะหายเป็นปกติได้เอง ภายในเวลา 4-5 วัน
อาการแทรกซ้อน
    ที่สำคัญคือในผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อเอนเทโรไวรัสจะมีอาการแทรกซ้อนที่อันตรายเกิดขึ้นได้ ซึ่งได้แก่
    กลุ่มที่มีอาการทางสมอง มีอาการปวดศีรษะมากและอาจมีอาเจียน คอแข็ง หรือในรายที่รุนแรงก็จะมีอาการชัก และมีไข้สูงด้วย บางรายจะมีอาการหนักถึงขั้นโคม่า อย่างที่เรียกว่าไวรัสขึ้นสมอง ( Encephalitis, brainstem encephalomyelitis) ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงก็อาจเป็นเพียงปวดศีรษะและมีคอแข็งเล็กน้อยจากการที่มีการระคายเคืองของเยื่อหุ้มสมอง (Aseptic meningitis) โดยที่ไม่มีอาการชักหรือโคม่า อย่างในกรณีของไวรัสขึ้นสมอง
     อาการหัวใจวายจากการที่เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Viral myocarditis) ซึ่งที่เป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็คือ การที่มีเด็กในสิงค์โปรบางรายที่มีการติดเชื้อเอนเทโรไวรัส และเสียชีวิตจากหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากมีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจมากจนหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดให้เพียงพอสำหรับการไหลเวียนของโลหิตเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ ซึ่งที่สิงค์โปรมีครอบครัวหนึ่งซึ่งสูญเสียลูกไป 2 คนพี่น้องในเวลาไล่เลี่ยกันด้วยโรคนี้
    การที่มีปอดอักเสบ(ปอดบวม) จากเชื้อไวรัส และมีเลือดออกในเนื้อปอดอย่างมาก (Pulmonary hemorrhage) ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันสั้น ภายใน 24- 48 ชม. หลังจากการเกิดปัญหาแทรกซ้อน
การรักษา
      ในปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ และยังไม่มีวัคซีนที่จะป้องกันการติดเชื้อนี้ การรักษาที่ให้ก็ได้แก่การรักษาตามอาการของผู้ป่วย
      ในรายที่มีปัญหาแทรกซ้อนก็จะเข้าดูแลรักษาใน หอผู้ป่วยวิกฤต (ไอ ซี ยู ) แต่ถึงกระนั้นในรายที่มีอาการมากก็ยังมีอัตราตายที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเกิดการทำลายของสมองบางส่วนที่สำคัญ เช่น ก้านสมอง (brainstem) ซึ่งมีศูนย์ควบคุมการหายใจ ศูนย์ควบคุมการเต้นของหัวใจ ฯลฯ หรือมีการทำลายกล้ามเนื้อหัวใจมากทำให้เกิดหัวใจวาย และเสียชีวิตอย่างค่อนข้างฉับพลัน
การป้องกัน
     เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถพบได้ในน้ำลาย, น้ำมูก ของผู้ป่วยที่มีอาการหวัด และอุจจาระ (โดยเฉพาะในรายที่มีอาการท้องเสีย) จึงทำให้สามารถแพร่กระจาย ทั้งโดยทางการหายใจ ( respiratory route) และทางปาก ( feco-oral route)ให้แก่คนรอบข้างที่มาสัมผัสได้ และผู้ใหญ่เองก็สามารถเป็นพาหะ ช่วยแพร่เชื้อนี้ได้แม้ว่าจะไม่ได้มีอาการป่วยชัดเจนเหมือนในเด็ก
จึงควรหมั่นล้างมือให้สะอาด และหลีกเลี่ยงการอยู่ในคนหมู่มาก รวมทั้งการรักษาสุขอนามัยในการทานอาหาร เช่น การใช้ช้อนกลาง การไม่ใช้ภาชนะอื่นๆร่วมกัน เป็นต้น
     ในรายที่มีอาการป่วย ควรจะพักผ่อนอยู่ที่บ้านไม่ส่งไปโรงเรียน หรือให้ไปสวนสนุก ที่จะเป็นการแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้โดยง่าย จนกว่าอาการต่างๆจะหายเป็นปกติ ซึ่งมักจะเป็นเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
ระบาดวิทยา
     จากการตรวจสอบอาการเจ็บป่วย และติดตามหาเชื้อที่เป็นสาเหตุของการตายในเด็กชาวสิงค์โปร พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อเอนเทโรไวรัส และจากการตรวจดูสายพันธ์ของไวรัส พบว่าเป็น เอนเทโรไวรัส 71 ที่พบว่ามีการระบาดมาก่อนหน้านี้ในปีที่แล้ว และเคยมีการระบาดมาแล้วเช่นกัน ในประเทศมาเลเซีย และไต้หวันในปีก่อนๆ มาแล้วหลายครั้ง แต่สำหรับที่สิงค์โปรดูเหมือนว่าปี2544 จะเป็นปีที่หนักที่สุดของการระบาดตั้งแต่ที่มีการติดตามเฝ้าระวังเชื้อเอนเทโรไวรัสนี้มา
     ในแง่ของระบาดวิทยาถึงแม้ว่าทางการแพทย์จะสามารถบอกได้ว่าเชื้อที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและการตายของเด็กในสิงคโปร์ในปี2544 นั้นส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อเอนเทโรไวรัส 71 และมีคุณลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับเชื้อที่เคยมีการระบาดเมื่อหลายปีก่อนที่สิงคโปร์ และไต้หวัน แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าจะมีเชื้อไวรัสตัวอื่นร่วมเป็นตัวการด้วยหรือไม่ เนื่องจากหลายต่อหลายรายที่มีการตรวจวิเคราะห์ทางด้านไวรัสวิทยากลับไม่สามารถพบเชื้อได้ หรือพบไวรัสตัวอื่นร่วมด้วย เช่น เชื้อคอกแซกกี่ เอ 16 (Coxsackie A16) ทำให้ทางสิงค์โปร,มาเลเซีย, ไต้หวัน ได้มีมาตรการตรวจแยกเชื้อไวรัส และเฝ้าระวังเชื้อ (Surveillance system) ในคนไข้ที่มีอาการเจ็บป่วยด้วยอาการคล้ายหวัดที่มารับการรักษาที่ คลินิก และ โรงพยาบาล อย่างสม่ำเสมอ และถือเป็นโรคที่ต้องรายงานให้แก่ทางกรม ควบคุมโรคติดต่อ ของแต่ละประเทศ
    ซึ่งทางประเทศไทยเราก็ได้มีการตื่นตัวกันในเรื่องนี้ และทางกระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรคติดต่อก็ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวังโรคและเพาะแยกเชื้อเอนเทโรไวรัสนี้ได้ โดยมีศูนย์อยู่ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี และยังนับว่าเป็นโชคดีที่ทางประเทศไทยเราถึงแม้จะมีผู้ป่วยด้วยโรค ปากมือและเท้าเปื่อยบ้าง แต่ก็ยังไม่พบว่ามีการระบาดและมีปัญหาโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ดังเช่นที่พบในประเทศเพื่อนบ้านของเรา

ที่มา : http://www.clinicdek.co

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น