บ้านเดิมเจ้า

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การเตรียมความพร้อมภาคเกษตรสู่ประชาคมอาเซียน

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง การเตรียมการเป็นประชาคมอาเซียนของภาคการเกษตร ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ ว่า เนื่องจากในปี 2558 อาเซียน (ASEAN) หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่มีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ที่จะต้องมีการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น และเกษตรกรต้องมีการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยในด้านการดูแลผลกระทบต่อเกษตรกรนั้น กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้มีกองทุนเอฟทีเอเพื่อดูแลและพัฒนาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เช่น โคเนื้อ และข้าวที่ถือเป็นสินค้าหลักที่ไทยได้เปรียบ เป็นต้น ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในการเป็นประชาคมอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ กระทรวงเกษตรฯจึงได้จัดงานสัมมนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้มีการระดมสมอง รับฟังข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย รวมทั้งการเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรเชิงรุกต่อไป

     นายธีระ กล่าวอีกว่า การเป็นประชาคมอาเซียน จะก่อให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันมากมาย ที่ชัดเจนที่สุด  ได้แก่ การเปิดเสรีด้านการค้า ซึ่งจะเปิดโอกาสให้แก่ผู้ผลิต เกษตรกรไทย ในการผลิตสินค้าเกษตรส่งไปขายในต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนผู้ซื้อสินค้ามากกว่าตลาดภายในประเทศถึง 10 เท่า หรือกล่าวได้ว่าเราจะมีตลาดผู้บริโภคสินค้าเกษตรถึง 600 ล้านคน ใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน  ดังนั้น ภาคการเกษตรไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยมีแนวทางที่จะดำเนินการหรือมีมาตรการในหลายเรื่อง ประกอบด้วย

     1.การสร้างความตระหนักและทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นของเกษตรกร 2.การประสานความร่วมมือเพื่อกำหนดเงื่อนไข มาตรการสุขอนามัยพืชและสุขอนามัยสัตว์ หรือข้อกำหนดความปลอดภัยด้านอาหาร 3.การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 4.การเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในระบบความปลอดภัยด้านอาหาร 5.การพัฒนาคุณภาพ ศักยภาพ และเสริมสร้างวิสัยทัศน์ของเกษตรกรภายในประเทศ เพื่อการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 6.การเพิ่มศักยภาพสหกรณ์การเกษตร 7.การปรับปรุงสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 8.การยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคเกษตรไทย
ขอบคุณ_หนังสือพิมพ์แนวหน้า
วันที่ 3 เมษายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น